วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2559

คูน



ราชพฤกษ์


ราชพฤกษ์ ชื่อสามัญ Golden shower, Indian laburnum, Pudding-pine tree, Purging Cassia
ราชพฤกษ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia fistula L. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)
สมุนไพรราชพฤกษ์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กุเพยะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ปูโย ปีอยู เปอโซ แมะหล่าอยู่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ลักเกลือ ลักเคย (กะเหรี่ยง), ราชพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ (ภาคกลาง), ลมแล้ง (ภาคเหนือ), ราชพฤกษ์ (ภาคใต้), คูน (ทั่วไปเรียกและมักจะเขียนผิดหรือสะกดผิดเป็น “ต้นคูณ” หรือ “คูณ“) เป็นต้น
คำว่า “ราชพฤกษ์” มีความหมายว่า “ต้นไม้ของพระราชา” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของงานมหกรรมพืชสวนโลกซึ่งจัดขึ้นเพื่อฉลองในวโรกาสอันเป็นมหามงคลที่พระเจ้าอยู่หัวของเราทรงครองสิริราชสมบัติครบรอบ 60 ปี

ต้นราชพฤกษ์ ต้นไม้ประจำชาติไทย

เมื่อปี พ.ศ.2544 คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติได้มีข้อเสนอและสรุปให้มีการกำหนดสัญลักษณ์ประจำชาติ 3 สิ่ง ซึ่งประกอบไปด้วย ดอกไม้ สัตว์ และสถาปัตยกรรม ซึ่งจากการพิจารณาได้ข้อสรุปว่า ให้สัตว์ประจำชาติคือ “ช้างไทย” ส่วนในด้านสถาปัตยกรรมประจำชาติคือ “ศาลาไทย” และในส่วนของดอกไม้ประจำชาติก็คือ “ดอกราชพฤกษ์” โดยมีเหตุผลในการคัดเลือกดังนี้
  • ต้นคูน หรือ ต้นราชพฤกษ์ จัดเป็นต้นไม้ประจำชาติไทย (ตามประกาศของกรมป่าไม้)
  • ต้นไม้ราชพฤกษ์ เป็นต้นไม้ที่คนไทยทั่วไปรู้จักกันอย่างแพร่หลาย ในนามของ “ต้นคูน” สามารถพบเห็นได้ทั่วไปของทุกภาคในประเทศ
  • ต้นราชพฤกษ์มีความเกี่ยวข้องกับประเพณีชาวไทยมาอย่างช้านาน เพราะเป็นไม้มงคลนามและใช้ในการประกอบพิธีสำคัญ ๆ ต่าง ๆ หลายพิธี เช่น พิธีลงเสาหลักเมือง ทำคทาจอมพล ใช้ทำยอดธงชัยเฉลิมพล เป็นต้น
  • ต้นราชพฤกษ์นั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่น การใช้เป็นยาสมุนไพรหรือนำมาใช้ทำเป็นเสาบ้านเสาเรือนได้ ฯลฯ
  • ต้นราชพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่มีอายุยืนนานและแข็งแรงทนทาน
  • ต้นราชพฤกษ์มีรูปทรงและพุ่มที่งดงาม มีดอกเหลืองอร่ามเต็มต้น แลดูสวยงามยิ่งนัก
  • ดอกราชพฤกษ์มีสีเหลือง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาติไทย เป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนา และยังเป็นสัญลักษณ์ของวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  • นอกจากนี้ตามตำราไม้มงคล 9 ชนิดยังระบุไว้ว่า ต้นราชพฤกษ์เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นใหญ่ ความมีอำนาจวาสนา มีโชคมีชัย
สมุนไพรราชพฤกษ์ กับการนำมาใช้รักษาโรคและอาการต่าง ๆ โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นสรรพคุณทางยานั้น ได้แก่ ส่วนของใบ ดอก เปลือก ฝัก แก่น กระพี้ ราก และเมล็ด ซึ่งสมุนไพรราชพฤกษ์ เป็นสมุนไพรที่สามารถใช้ได้ทั้งกับเด็ก สตรี รวมไปถึงผู้สูงอายุ โดยไม่มีอันตรายใด ๆ
ต้นราชพฤกษ์













  • ใบราชพฤกษ์ (ใบคูน) ลักษณะของใบออกเป็นช่อ ใบสีเขียวเป็นมัน ช่อหนึ่งยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร และมีใบย่อยเป็นไข่หรือรูปป้อม ๆ ประมาณ 3-6 คู่ ใบย่อยมีความกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 9-15 เซนติเมตร โคนใบมนและสอบไปทางปลายใบ เนื้อใบบางเกลี้ยง มีเส้นแขนงใบถี่และโค้งไปตามรูปใบ
ใบราชพฤกษ์
  • ดอกราชพฤกษ์ (ดอกคูน) ออกดอกเป็นช่อ ยาวประมาณ 20-45 เซนติเมตร มีกลีบรองดอกรูปขอบขนาน มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร กลีบมี 5 กลีบ หลุดร่วงได้ง่าย และกลีบดอกยาวกว่ากลีบรองดอกประมาณ 2-3 เท่า และมีกลีบรูปไข่จำนวน 5 กลีบ บริเวณพื้นกลีบจะเห็นเส้นกลีบชัดเจน ที่ดอกมีเกสรตัวผู้ขนาดแตกต่างกันจำนวน 10 ก้าน มีก้านอับเรณูโค้งงอขึ้น ดอกมักจะบานในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม แต่ก็มีบางกรณีที่ออกดอกนอกฤดูเหมือนกัน เช่น ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม
ดอกราชพฤกษ์ดอกคูน
  • ผลราชพฤกษ์ หรือ ฝักราชพฤกษ์ (ฝักคูณ) ผลมีลักษณะเป็นฝักรูปทรงกระบอกเกลี้ยง ๆ ฝักยาวประมาณ 20-60 เซนติเมตร และวัดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ราว 2-2.5 เซนติเมตร ฝักอ่อนจะมีสีเขียว ส่วนฝักแก่จัดจะมีสีดำ ในฝักจะมีผนังเยื่อบาง ๆ ติดกันอยู่เป็นช่อง ๆ ตามขวางของฝัก และในช่องจะมีเมล็ดสีน้ำตาลแบน ๆ อยู่ มีขนาดประมาณ 0.8-0.9 เซนติเมตร
ฝักคูนฝักราชพฤกษ์

สรรพคุณของราชพฤกษ์

  1. ช่วยบำรุงโลหิตในร่างกาย (เปลือก)
  2. สารสกัดจากลำต้นและใบของราชพฤกษ์มีฤทธิ์ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ (ลำต้น, ใบ)
  3. สารสกัดจากเมล็ดมีฤทธิ์ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล (เมล็ด)
  4. ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจหรือถุงน้ำดี (ราก)
  5. ราชพฤกษ์มีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ (ราก)
  6. ฝักราชพฤกษ์มีสรรพคุณทางยาช่วยแก้ไข้มาลาเรีย (ฝัก)
  7. ช่วยแก้ไข้รูมาติกด้วยการใช้ใบอ่อนนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ)
  8. ฝักอ่อนมีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย มีกลิ่นเหม็นเอียน เย็นจัด สรรพคุณสามารถใช้ขับเสมหะได้ (ฝักอ่อน)
  9. ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ฝัก)
  10. เปลือกเมล็ดและเปลือกฝักมีสรรพคุณช่วยถอนพิษ ทำให้อาเจียน หรือจะใช้เมล็ดประมาณ 5-6 เมล็ด นำมาบดเป็นผงแล้วรับประทานก็ได้ (เมล็ด, ฝัก)
  11. ต้นราชพฤกษ์ สรรพคุณของกระพี้ใช้แก้อาการปวดฟัน (กระพี้)
  12. ในอินเดียมีการใช้ฝัก เปลือก ราก ดอก และใบมาทำเป็นยา ใช้เป็นยาแก้ไข้และหัวใจ แก้อาการหายใจขัด ช่วยถ่ายของเสียออกจากร่างกาย แก้อาการซึมเศร้า หนักศีรษะ หนักตัว ทำให้ชุ่มชื่นทรวงอก (เปลือก, ราก, ดอก, ใบ, ฝัก)
  13. สรรพคุณราชพฤกษ์ช่วยแก้โรครำมะนาด (กระพี้, แก่น)
  14. ช่วยรักษาเด็กเป็นตานขโมยด้วยการใช้ฝักแห้งประมาณ 30 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ฝัก)
  15. ช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก (เนื้อในฝัก)
  16. ฝักแก่ใช้เป็นยาระบาย ช่วยในการขับถ่าย ทำให้ถ่ายได้สะดวก ไม่มวนท้อง แก้อาการท้องผูก เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูกบ่อย ๆ และสตรีมีครรภ์ เพราะมีสารแอนทราควิโนน (Anthraquinone glycoside) เป็นตัวช่วยระบาย สำหรับวิธีการใช้ ให้ใช้ฝักแก่ขนาดก้อนเท่าหัวแม่มือ (หนักประมาณ 4 กรัม) และน้ำอีก 1 ถ้วยแก้วใส่หม้อต้ม แล้วผสมเกลือเล็กน้อย ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าหรือช่วงก่อนนอนเพียงครั้งเดียว (ฝักแก่, ดอก, เนื้อในฝัก, ราก, เมล็ด)
  17. เมล็ดมีรสฝาดเมา สรรพคุณช่วยแก้ท้องร่วง (เมล็ด)
  18. ช่วยหล่อลื่นลำไส้ รักษาโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและแผลเรื้อรัง (ดอก)
  19. ช่วยรักษาโรคบิด (เมล็ด)
  20. สรรพคุณของราชพฤกษ์ ฝักช่วยแก้อาการจุกเสียด (ฝัก)ต้นคูน
  21. ช่วยทำให้เกิดลมเบ่ง ด้วยการใช้เมล็ดฝนกับหญ้าฝรั่น น้ำดอกไม้เทศ และน้ำตาล แล้วนำมากิน (เมล็ด)
  22. ฝักและใบมีสรรพคุณช่วยขับพยาธิ ด้วยการใช้ฝักแห้งประมาณ 30 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ, ฝัก, เนื้อในฝัก)
  23. ต้นคูณมีสรรพคุณช่วยขับพยาธิไส้เดือนในท้อง (แก่น)
  24. เปลือกฝักมีรสเฝื่อนเมา ช่วยขับรกที่ค้าง ทำให้แท้งลูก (เปลือกฝัก)
  25. สารสกัดจากใบคูนมีฤทธิ์ช่วยต้านการเกิดพิษที่ตับ (ใบ)
  26. สรรพคุณของคูน รากใช้แก้โรคคุดทะราด (ราก)
  27. ใบสามารถนำมาใช้ในการฆ่าเชื้อโรค เชื้อโรคบนผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราได้ (ใบ)
  28. ช่วยฆ่าพยาธิผิวหนัง (ใบ)
  29. รากนำมาฝนใช้ทารักษากลากเกลื้อน และใบอ่อนก็ใช้แก้กลากได้เช่นกัน (ราก, ใบ)
  30. เปลือกและใบนำมาบดผสมกันใช้ทาแก้เม็ดผดผื่นตามร่างกายได้ (เปลือก, ใบ)
  31. เปลือกมีสรรพคุณช่วยแก้ฝี แก้บวม หรือจะใช้เปลือกและใบนำมาบดผสมกันใช้ทารักษาฝี (เปลือก, ใบ)
  32. คูน สรรพคุณของดอกช่วยแก้บาดแผลเรื้อรัง รักษาแผลเรื้อรัง (ดอก)
  33. เปลือกราชพฤกษ์ สรรพคุณช่วยสมานบาดแผล (เปลือก)
  34. ฝักคูณมีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดข้อ (เนื้อในฝัก)
  35. ชาวอินเดียใช้ใบนำมาโขลก นำมาพอกแล้วนวด ช่วยแก้โรคปวดข้อและอัมพาต (ใบ)
  36. ช่วยกำจัดหนอนและแมลง โดยฝักแก่มีสารออกฤทธิ์ที่ส่งผลต่อระบบประสาทของแมลง เมื่อนำฝักมาบดผสมกับน้ำทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน แล้วใช้สารละลายที่กรองได้มาฉีดพ่นจะช่วยกำจัดแมลงและหนอนในแปลงผักได้ (ฝักแก่)
  37. สารสกัดจากรากราชพฤกษ์มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Acetylcholinesterase
  38. นอกจากนี้ยังมีการนำสมุนไพรราชพฤกษ์มาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย เช่น
    • น้ำมันนวดราชพฤกษ์ ที่เคี่ยวมาจากน้ำมันจากใบคูน เป็นน้ำมันนวดสูตรร้อนหรือสูตรเย็น ที่ใช้นวดแก้อัมพฤกษ์อัมพาต และแก้ปัญหาเรื่องเส้น
    • ลูกประคบราชตารู เป็นลูกประคบสูตรโบราณ ที่ใช้ใบคูนเป็นตัวยาตั้งต้น ประกอบไปด้วย ขมิ้นอ้อย เทียนดำ กระวาน และอบเชยเทศ โดยลูกประคบสูตรนี้จะใช้ปรุงตามอาการ โดยจะดูตามโรคและความต้องการเป็นหลัก ซึ่งแต่ละคนจะได้ไม่เหมือนกัน
    • ผงพอกคูนคาดข้อ ทำจากใบคูนที่นำมาบดเป็นผง ช่วยแก้อาการปวดเส้น อัมพฤกษ์อัมพาต โดยนำมาพอกบริเวณที่เป็นจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของเลือด บรรเทาอาการปวดข้อ รักษาโรคเกาต์ และยังช่วยลดอาการอักเสบได้อีกด้วย ซึ่งสูตรนี้สามารถใช้กับผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก ตาไม่หลับ มุมปากตกได้ด้วย
    • ชาสุวรรณาคา ทำจากใบคูน สรรพคุณช่วยในด้านสมอง แก้ปัญหาเส้นเลือดตีบในสมอง ช่วยให้ระบบไหลเวียนในร่างกายดีขึ้น ช่วยแก้อัมพฤกษ์อัมพาต โดยเป็นตัวยาที่มีไว้ชงดื่มควบคู่ไปกับการรักษาแบบอื่น ๆ
ข้อควรระวัง ! :การทำเป็นยาต้ม ควรต้มให้พอประมาณจึงจะได้ผลดี หากต้มนานเกินไปหรือเกินกว่า 8 ชั่วโมง ยาจะไม่มีฤทธิ์ระบาย แต่จะทำให้ท้องผูกแทน และควรเลือกใช้ฝักที่ไม่มากจนเกินไป และยาต้มที่ได้หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้อาเจียนได้
ดอกชบา





ชบา
ชบา ชื่อสามัญ Shoe flower, Hibiscus, Chinese rose
ชบา ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus rosa-sinensis L. จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)
ชบา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า  ชุมเบา (ปัตตานี), ใหม่ ใหม่แดง (ภาคเหนือ), บา (ภาคใต้) เป็นต้น โดยต้นชบานั้นมีต้นกำเนิดในประเทศจีน อินเดีย และในหมู่เกาะฮาวาย
ลักษณะของดอกชบา : มีลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ใบค่อนข้างมนรี มีปลายแหลม ขอบของใบเป็นจักเล็กน้อย และมีสีเขียวเข้ม เมื่อขยี้ใบจะเป็นเมือกเหนียว ลักษณะดอกชบา มีทั้งกลีบชั้นเดียวและหลายชั้น หากเป็นชั้นเดียวปกติจะมีกลีบดอก 5 กลีบ มีก้านเกสรอยู่ตรงกลางดอกหนึ่งก้าน ลักษณะของกลีบดอกชบาจะมีขนาดใหญ่ มีหลายสีไม่ว่าจะเป็น ขาว แดง แสด เหลือง ม่วง ชมพู และสีอื่น ๆ โดยดอกชบาแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะคือ ดอกบานเป็นรูปถ้วย, ดอกบานเป็นรูปแผ่แบน, กลีบดอกบานแบบแผ่โค้ง และขยายพันธุ์ด้วยการปักชำ การติดตา และการเสียบยอด
ประวัติดอกชบา ความเชื่อของคนโบราณในบ้านเรานั้นยังมีอคติกับดอกชบาอยู่ อาจเป็นเพราะเราได้รับดอกชบามาจากอินเดีย จึงได้รับความเชื่อของคนอินเดียมาด้วย เพราะในอินเดียนั้นดอกชบาจะนำมาใช้บูชาเจ้าแม่กาลี และนำมาร้อยพวงมาลัยสวมคอนักโทษประหาร และความหมายของดอกชบาในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จะใช้ดอกชบาไว้สำหรับลงโทษและประจานผู้หญิงร้ายหรือผู้หญิงแพศยา ด้วยการนำดอกชบามาทัดหูทั้ง 2 ข้าง และร้อยดอกชบาแดงเป็นมาลัยใส่ศีรษะและใส่คอ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนโบราณไม่นิยมใช้และมีอคติกับดอกชบานั่นเอง 
แต่ความสวยงามของดอกชบานั้น ในต่างประเทศให้สมญานามดอกชบาว่าเป็น ราชินีแห่งไม้ดอกเมืองร้อน (Queen of tropic flower) เลยทีเดียว และยังจัดเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศมาเลเซีย จาไมก้า รวมไปถึงรัฐฮาวายอีกด้วย ซึ่งเป็นที่ได้รับความนิยมอย่างมากในการนำมาทัดหูหรือแซมผม

สรรพคุณของดอกชบา

  1. ต้นชบามีส่วนช่วยบำรุงผิวพรรณ ช่วยบำรุงจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส
  2. สรรพคุณดอกชบาช่วยฟอกโลหิต
  3. สรรพคุณของชบาช่วยรักษาและบรรเทาอาการของโรคที่เกี่ยวกับไต
  4. สรรพคุณของดอกชบาช่วยดับร้อนในร่างกาย แก้กระหาย และช่วยแก้ไข้ ด้วยการใช้ดอกชบา 4 ใบนำมาแช่ในน้ำต้มสุก 2 แก้วแล้วดื่มต่างน้ำ (ดอก)
  5. ช่วยเรียกน้ำย่อย ทำให้อาการมีรสชาติดีขึ้น ด้วยการใช้รากชบาน้ำไปต้มกับน้ำดื่ม
  6. ช่วยแก้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มีระดูขาว ด้วยการใช้ดอกชบาสดประมาณ 4 ดอกนำมาตำให้ละเอียด แล้วกินตอนท้องว่างในช่วงเช้าติดต่อกันประมาณ 1 สัปดาห์ หรือจะนำดอกชบามาตากให้แห้งในที่ร่ม แล้วนำมาบดเป็นผงกินครั้งละ 1 ช้อนชาติดต่อกัน 1 สัปดาห์ (ดอก)
  7. สรรพคุณชบาช่วยแก้ประจำเดือนไม่มา หรือมาช้า ด้วยการใช้ดอกชบา 3 ดอกนำมาบดให้ละเอียด แล้วผสมกับน้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ (หรือจะผสมกับนม 1 แก้วก็ได้) แล้วนำมาดื่มตอนท้องว่างในช่วงเช้า จะช่วยปรับเรื่องประจำเดือนได้ (ดอก)
  8. ดอกชบาสรรพคุณ ดอกชบาใช้ปรุงเป็นยาบำรุงประจำเดือน ด้วยการใช้กลีบดอกชบาผสมกับน้ำตาลอ้อยหรือน้ำตาลปี๊ปอย่างละเท่า ๆ กัน ใส่ลงไปในโถแก้วมีฝาปิด แล้วเอาโถแก้วไปตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 3 สัปดาห์ น้ำตาลก็จะละลายผสมกับดอกชบา แล้วยำมากินครั้งละ 2 ช้อนชา วันละสองครั้งติดต่อกันประมาณ 3 สัปดาห์ (ดอก)
  9. ใบชบาสามารถช่วยรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกได้ ด้วยการใช้ใบชบาหรือฐานของดอกชบาก็ได้ นำมาตำให้แหลก แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็นแผล ก็จะช่วยรักษาแผลได้ (ใบ)
  10. เปลือกต้นชบาสามารถใช้รักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราได้ (เปลือก)
  11. รากสด ๆ ของชบาพันธุ์ดอกขาวหรือแดง นำมาตำละเอียดใช้พอกฝีได้ (ราก)
  12. ช่วยแก้อาการฟกช้ำบวม ด้วยการใช้รากสดของชบาพันธุ์ดอกขาวหรือแดงนำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกแก้อาการฟกช้ำ (ราก)
  13. ใบชบาช่วยบำรุงผมให้ดกดำเงางาม ด้วยการใช้ใบชบาประมาณ 1 กำมือ ล้างให้สะอาด แล้วนำมาตำให้แหลก เติมน้ำเล็กน้อย ให้คั้นเอาแต่น้ำแล้วกรองกากทิ้ง หลังจากนั้นให้ใช้น้ำเมือกจากใบชบามาใช้สระผม จะช่วยชำระล้างสิ่งสกปรกและช่วยบำรุงผมด้วย (ใบ)
  14. ประวัติดอกชบาประโยชน์ดอกชบา สามารถนำมาใช้ทำเป็นสีย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีดำ เพราะในอดีตมีการนำมาใช้ย้อมผม ย้อมขนตา หรือนำไปทารองเท้า (จึงเป็นที่มาของ Shoe flower หรือดอกรองเท้านั่นเอง) (ดอก)
  15. ประโยชน์ของชบา เปลือกของต้นชบาสามารถนำมาใช้ทำเป็นเชือก หรือใช้ทอกระสอบได้อีกด้วย (เปลือก)
  16. ต้นชบานิยมปลูกไว้เป็นแนวรั้วเพื่อชมดอก เพราะนอกจากจะให้ความสวยงามแล้วยังปลูกง่าย แข็งแรง และตายยากอีกด้วย (ต้นชบา)
  17. ประโยชน์ของชบา เหมาะอย่างมากสำหรับนำมาร้อยเป็นพวงมาลัย เพราะมีสีสดใสและดอกโต (หากไม่ยึดติดกับอคติในอดีต) เป็นดอกไม้ที่ทัดหูได้งดงามอีกชนิดหนึ่งเลยล่ะครับ










วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559








บานชื่น (Zinnia) จัดเป็นไม้ดอกประดับที่นิยมปลูกมากชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะในแถบประเทศอเมริกา เนื่องจากดอกมีสีสันสวยงาม มีหลากหลายสี ปลูกง่าย ไม่ต้องดูแลมาก เติบโต และให้ดอกเร็ว
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zinnia elegans
• วงศ์ : Compositae
• ชื่อสามัญ :
– Zinnia
– Youth
– Old Age
บานชื่น เป็นไม้พื้นเมืองของเม็กซิโก พบได้บริเวณเชิงเขาในเม็กซิโก และอเมริกากลาง มีดอกขนาดเล็ก กลีบดอกชั้นเดียว สีม่วงซีด ชาวเม็กซิกันชอบเด็ดมาติดหมวก และเป็นไม้ดอกที่นิยมปลูกมาก 1 ใน 3 อันดับแรกในอเมริกา ได้แก่ ดาวเรือง พิทูเนีย และบานชื่น
ปัจจุบัน บานชื่นถูกพัฒนาสายพันธุ์ให้มีดอกทุกสี ยกเว้นสีฟ้า ขนาดดอกมีตั้งแต่เท่ากระดุมเสื้อจนถึงเท่าจานรองถ้วยนํ้าชา มีรูปร่างดอกแตกต่างกันตามสายพันธุ์
zinnia
บานชื่นพันธุ์ดั้งเดิมถูกตั้ง ชื่อว่า Youth and Old Age เนื่องจากมีการออกดอกไม่พร้อมกัน ดอกที่บานก่อนจะเหี่ยวไป ดอกที่บานใหม่จะบานปนกับดอกเหี่ยว ส่วนพันธุ์ในปัจจุบันมีการบานของดอกพร้อมกัน
ประวัติบานชื่น
บานชื่นมีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศทางตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกากลางถึง อเมริกาใต้ คำว่า Zinnia เป็นชื่อเรียกของบานชื่นที่ถูกตั้งในศตวรรษที่ 18 เพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร. โจฮานน์ กอตต์ฟรีด ซินน์ (Dr.Johann Gottfried Zinn) นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน ที่เป็นคนแรกที่นำเมล็ดบานชื่นจากอเมริกาไปปลูกยุโรป
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. ลำต้น
บานชื่นจัดเป็นไม้ดอกฤดูเดียว ลำต้นสูง 18-35 ซม. ลำต้นมีขนแข็งสั้นปกคลุม ลำต้นมีสีเขียว มีลำต้นเดียว ไม่แตกกิ่ง ไม่มีแก่น และกลวง เปราะหักง่าย
2. ใบ
ใบเป็นแบบโอเวท (Ovate) ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ใบติดกับลำ ต้น เส้นใบเป็นแบบปาล์เมทลี่(Palmately) แยกออกจากฐานของใบ มี 5 แฉก การจัดเรียงของใบเป็นแบบตรงข้าม ดอกเป็นแบบเฮท(Head) มีหลายสี
zinniz1

3. ดอกบานชื่น
ดอกบานชื่น ออกเป็นช่อกระจุก (ดอกอยู่ตรงกลางกลีบดอก) หรืออาจเรียกตามลักษณะที่มองเห็นเป็นดอกเดียว ดอกมี 2 แบบ คือ
– ดอกซ้อน ประกอบด้วยกลีบดอกหลายกลีบ เรียงซ้อนกันแน่นตามความสูง แต่ละกลีบมีขนาดไม่เท่ากัน กลีบด้านล่างมีขนาดใหญ่ ขนานกับพื้น กลีบด้านบนมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ และค่อยๆตั้งฉากกับพื้น
zinnia2
– ดอกลา ประกอบด้วยกลีบดอกเรียงซ้อนกันเพียง 1-3 ชั้น แต่ละกลีบมีขนาดเท่ากัน และทิ้งตั้งฉากกับเกสรดอกขนานกับพื้น
zinnia4


ดอกจะออกได้ประมาณ 2-3 เดือน หลังการปลูก
4. เมล็ด
เมล็ดมีสีดำขนาดเล็ก เรียวยาว ประมาณ 2 ซม. ประกอบด้วยก้านเมล็ดสีน้ำตาล ยาวประมาณ 1 ซม. และตัวเมล็ด ยาวประมาณ 1 ซม. ดอกใหญ่มีน้ำหนักเมล็ดหนึ่งกรัม จะมีเมล็ดประมาณ 80-120 เมล็ด และส่วนดอกเล็กจะมีเมล็ดประมาณ 200 ในน้ำหนักที่เท่ากัน
zinnia3


ประโยชน์ของบานชื่น
• ใช้ปลูกเป็นไม้ดอกประดับตามหน้าบ้าน ปลูกจัดสวน และปลูกเป็นไม้กระถาง
• ใช้ปลูกเป็นไม้มงคลที่เชื่อว่าจะนำความร่มเย็นเป็นสุขมาให้แก่ครอบครัว เนื่องจากคำว่า บานชื่น เป็นคำมงคลที่แสดงถึงความเบิกบานมีความสุข
• ดอกบานชื่น นำมาตากแห้ง และบดเป็นผงสำหรับชงเป็นชาดื่ม
• ดอกบานชื่น นำมาสกัดสีย้อมผ้า
• ดอกบานชื่น นำมาบดเป็นผงสำหรับเป็นสีผสมอาหาร
• ดอกบานชื่น นำมาบดละลายน้ำใช้เป็นสีระบายภาพ
การปลูกบานชื่น
บานชื่นสามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่โล่งแจ้ง เป็นพืชที่ชอบแสง สามารถปลูกได้ตลอดฤดู และทนต่อทุกสภาพได้ดี แต่ทั่วไปชอบดินร่วนปนทราย ดินมีอินทรีย์วัตถุสูง ดินมีความชื้น ไม่ชอบสภาพดินแฉะ มีน้ำขัง
การปลูกบานชื่น
การ ปลูกบานชื่นมีทั้งการปลูกในแปลง และการปลูกในกระถาง ซึ่งจะใช้วิธีการปลูกด้วยเมล็ดเท่านั้น แต่โดยทั่วไปมักนิยมปลูกในกระถาง เนื่องจาก เป็นไม้ดอกที่โตเร็ว ลำต้นไม่ใหญ่สูง มีอายุสั้น ให้ดอกใหญ่ สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย แต่ก็พบปลูกในแปลงบ้างในลักษณะเพื่อประดับในโอกาสต่างๆ
การปลูกบานชื่นในกระถาง
การเตรียมดิน
นิยมเตรียมดินด้วยการผสมดินกับขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วนดินกับขี้เถ้าที่ 1:1 หรือ 1:2 เนื่องจากจะให้น้ำหนักเบา และกกระถางที่ใช้จะเป็นกระถางพลาสติกขนาดไม่เกิน 10 นิ้ว ขึ้นอยู่กับปริมาณต้นที่ต้องการ
การปลูก
การปลูกจะใช้วิธีการหยอดเมล็ดลงในกระถาง หยอดเมล็ดลึก 2-3 ซม. กระถางละ 4-10 เมล็ด ขึ้นอยู่กับขนาดกระถาง หลังจากนั้น รดน้ำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง จนต้นเติบโต และออกดอก ซึ่งระยะหลังอาจรดน้ำเีพียง 2 วัน/ครั้ง




วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แก้ว

                                             ต้นแก้ว

แก้ว ชื่อสามัญ Andaman satinwood, Chanese box tree, Cosmetic bark tree, Orange jasmine, Orange jessamine, Satin wood[1],[2],[3],[4],[5]
แก้ว ชื่อวิทยาศาสตร์ Murraya paniculata (L.) Jack  (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Murraya exotica L.) จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE)[1],[2],[3],[4],[5]
สมุนไพรแก้ว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จ๊าพริก (ลำปาง), แก้วลาย (สระบุรี), แก้วขี้ไก่ (ยะลา), แก้วพริก ตะไหลแก้ว (ภาคเหนือ), แก้วขาว (ภาคกลาง), กะมูนิง (มลายู-ปัตตานี), จิ๋วหลี่เซียง (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[3],[4]

ลักษณะของต้นแก้ว

  • ต้นแก้ว เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศจีน และในออสเตรเลีย[7] ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคในป่าดิบแล้งจากที่ราบสูงจนถึงที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400 เมตร[8] โดยจัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร ต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลมแน่นทึบ เปลือกลำต้นเป็นสีเทาแตกเป็นร่อง ๆ เนื้อไม้สีขาวนวล เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี ชอบแสงแดดเต็มวัน-รำไร และความชื้นปานกลาง-ต่ำ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอน[1],[2],[3],[4],[5]
ภาพต้นแก้ว
ต้นแก้ว
  • ใบแก้ว ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายใบคี่ ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 5-9 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายและโคนใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่นหรือหยักมนเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร แผ่นใบคล้ายแผ่นหนังบาง ๆ หลังใบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบมีสีอ่อนกว่า ใบมีต่อมน้ำมัน เมื่อขยี้จะมีกลิ่นฉุนคล้ายผิวส้มเป็นน้ำมันติดมือ[1],[2],[3],[5]
ใบแก้ว
  • ดอกแก้ว ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ตามซอกใบ ดอกย่อยเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอมจัด กลีบดอกมี 5 กลีบ หลุดร่วงได้ง่าย กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปกลมรี ยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 7-9 มิลลิเมตร โคนกลีบดอกติดกัน ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 10 อัน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี[1],[2],[3]
ดอกแก้ว
ภาพแก้ว
รูปดอกแก้ว
  • ผลแก้ว ลักษณะของผลเป็นกลมรีหรือเป็นรูปไข่ ปลายสอบเล็กน้อย ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกเป็นสีแดงอมส้ม ผิวผลมีต่อมน้ำมันเห็นได้ชัดเจน ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะรีหรือเป็นรูปไข่ ปลายสอบ มีขนหนาและเหนียวหุ้มโดยรอบเมล็ด สีขาวขุ่น เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 6-9 มิลลิเมตร[1],[2],[3],[4]
ผลแก้ว

สรรพคุณของต้นแก้ว

  1. ใบมีรสร้อนเผ็ดและขม มีสรรพคุณช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ใบ)[3],[5]
  2. ช่วยคลายการอุดตันของเส้นเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดลมเป็นไปได้ดีขึ้น (ราก)[3]
  3. ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ (ดอก,ใบ)[4]
  4. ช่วยแก้อาการไอ (ดอก,ใบ)[4]
  5. ราก ก้าน และใบสดสามารถนำมาใช้เป็นยาชาระงับอาการปวดได้ จึงมีการนำมาใช้เป็นยาแก้อาการปวดฟันและปวดกระเพาะ (ราก,ก้าน,ใบสด)[3],[4] บ้างก็ว่าก้านและใบสดมีรสเผ็ดร้อนขม นำมาต้มก็ใช้เป็นยาอมบ้วนปากแก้อาการปวดฟันได้เช่นกัน (ก้านใบ,ใบสด)[1],[2],[4]
  6. รากใช้เป็นยาแก้ฝีฝักบัวที่เต้านม (ราก)[3]
  7. รากใช้เป็นยาช่วยขับลมชื้นในร่างกาย แต่ต้องนำไปใช้ร่วมกับตำราแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนจีน (ราก)[3]
  8. ใบช่วยแก้ท้องเสีย (ใบ)[4]
  9. ช่วยแก้บิด (ใบ)[4]
  10. ใบมีสรรพคุณช่วยขับลม แก้อาการจุกเสียดแน่นเฟ้อ (ใบ)[3],[5]
  11. ช่วยในการย่อยอาหาร (ดอก,ใบ)[4]
  12. ใช้เป็นยาแก้ปวดกระเพาะ ด้วยการใช้ใบแก้วแห้ง, กานพลู, เจตพังคี, และเปลือกอบเชย นำมาบดเป็นผงใช้ชงกับน้ำร้อนเป็นยาประทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 ครั้ง หรือจะนำผงที่ได้มาบดผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดเทาเม็ดถั่วเหลืองก็ได้ โดยใช้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง (ใบแห้ง)[3]
  13. ใบใช้เป็นยาขับพยาธิตัวตืด (ใบ)[4]
  14. ใบใช้เป็นยาขับประจำเดือนหรือระดูของสตรี (ใบ)[3],[5] หรือจะใช้รากแห้งประมาณ 10-15 กรัม (สดให้ใช้ 30-60 กรัม) นำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว แล้วเคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานหลังอาหาร วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (รากแห้ง)[4]
  15. รากและต้นแห้ง นำมาหั่นและต้มเคี่ยวแล้วกรองเอาแต่น้ำมาใช้ ช่วยเร่งการคลอดบุตรของสตรี โดยใช้ผ้าพันแผลจุ่มกับน้ำยาสอดเข้าไปที่ปากมดลูก (ราก,ต้นแห้ง)[1],[2]
  16. รากใช้เป็นยาแก้ฝีในมดลูก (ราก)[3]
  17. รากสดใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็นแผล (รากสด)[1],[2] ใช้เป็นยาแก้แผลคัน (ราก)[3]
  18. ใช้เป็นยาแก้ผดผื่นคันที่เกิดจากความชื้นและที่เกิดจากแมลงกัดต่อย (ราก,ก้าน,ใบสด)[1],[3],[4] แก้อาการคันที่ผิวหนัง (ราก)[3]
  19. แก้แมลงสัตว์กัดต่อย ด้วยการใช้รากและใบสดนำมาต้มใช้ชะล้างบริเวณที่ถูกแมลงกัดต่อย (ราก,ใบสด)[1] แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ราก)[3]
  20. รากสดมีรสเผ็ดสุขุม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้แผลฟกช้ำได้ (รากสด)[1],[2] แก้ฟกช้ำดำเขียว (ราก)[3] แก้แผลเจ็บปวดที่เกิดจากการกระทบกระแทก (ใบ)[4]
  21. ช่วยแก้ฟกช้ำ ด้วยการใช้ใบแก้วสด, ขมิ้น, ขิง, และไพร นำมาตำให้ละเอียดและผสมกับเหล้า แล้วนำไปคั่วให้ร้อน นำผ้าสะอาดห่อ ใช้เป็นยาประคบบริเวณที่มีอาการฟกช้ำ ประมาณ 20-30 นาที โดยให้ทำวันละ 2-3 ครั้ง (ใบสด)[3]
  22. รากใช้แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย บรรเทาอาการปวดบวม แต่ต้องนำไปใช้ร่วมกับตำราแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนจีน (ราก)[3] บ้างว่าใช้รากแห้งนำมาหั่นเป็นฝอยใช้ตุ๋นกับหางหมูเจือกับสุราใช้กินเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยเอว (รากแห้ง)[1],[2],[4]
  23. ก้านและใบสดเมื่อนำมาบดแช่กับแอลกอฮอล์ 24 ชั่วโมง สามารถนำมาใช้ทาหรือฉีดเป็นยาระงับอาการปวดได้ (ก้านใบ,ใบสด)[1],[2]
  24. ดอกและใบใช้เป็นยาแก้ไขข้ออักเสบ (ดอก,ใบ)[4]